5 ไอเดียออกแบบออฟฟิศมินิมอลที่สถาปนิกแนะนำ

ปัจจุบัน การออกแบบออฟฟิศไม่ได้เน้นแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน “มินิมอลดีไซน์” จึงเป็นอีกเทรด์ที่ได้รับความนิยมมากในตอนนี้ เพราะช่วยให้พื้นที่ดูโปร่ง โล่ง และเป็นระเบียบมากขึ้น ลดสิ่งรบกวนสายตา แต่ยังคงความสวยงามแบบ Less is More หากใครกำลังมองหาไอเดียเปลี่ยนโฉมออฟฟิศให้มินิมอลแบบสุดๆ ลองมาดู 5 แนวทางที่สถาปนิกแนะนำกัน
ออฟฟิศมินิมอลคืออะไร? ทำไมถึงเป็นที่นิยม?
มินิมอล (Minimal) คือแนวคิดการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย ใช้องค์ประกอบเท่าที่จำเป็น ตัดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยออกไป และให้ความสำคัญกับฟังก์ชันการใช้งานมากกว่าการตกแต่งที่เกินจำเป็น ซึ่งในบริบทของออฟฟิศ การออกแบบออฟฟิศสไตล์มินิมอลจึงหมายถึงพื้นที่ทำงานที่โปร่งโล่ง ใช้โทนสีที่ดูสบายตา เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบๆ แต่ใช้งานได้จริง รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างลงตัวเพื่อสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุผลที่ออฟฟิศสไตล์มินิมอลได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์การทำงานที่ให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบและสร้างสมดุลทางสายตา ใช้พื้นที่น้อยลง แต่จัดวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างเหมาะสม ช่วยลดสิ่งรบกวนและกระตุ้นสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้ การตกแต่งภายในสำนักงานแบบมินิมอล ยังช่วยให้สำนักงานดูโมเดิร์น ทันสมัย และมีภาพลักษณ์ที่เป็นมืออาชีพ ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิด Sustainable Design ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสีย และให้ความสำคัญกับวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
5 ไอเดียออกแบบออฟฟิศมินิมอลที่สถาปนิกแนะนำ
หากพูดถึงการออกแบบออฟฟิศสไตล์มินิมอล หลักสำคัญคือการคัดเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สี แสง เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่การจัดสรรพื้นที่ ทุกองค์ประกอบต้องถูกออกแบบให้เรียบง่ายแต่ลงตัว และนี่คือ 5 ไอเดียที่สถาปนิกแนะนำ
1. Less is More เน้นความเรียบง่าย
แนวคิดออกแบบภายในออฟฟิศแบบ Less is More เป็นหัวใจหลักของการออกแบบสไตล์มินิมอล ซึ่งหมายถึงการใช้สิ่งของให้น้อยลง แต่ทำให้สิ่งของเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่สำนักงานที่ไม่ควรมีของตกแต่งที่ไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้ดูรกและลดประสิทธิภาพการทำงานได้ แนะนำให้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์เรียบง่าย ดูสะอาดตา ไม่มีลวดลายหรือรายละเอียดที่มากเกินไป รวมถึงเลือกใช้โทนสีเรียบๆ เช่น สีขาว สีเทา หรือสีแนวเอิร์ธโทน
นอกจากเรื่องออกแบบภายในออฟฟิศแล้ว การจัดระเบียบภายในออฟฟิศก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรมีพื้นที่เก็บของที่ซ่อนสายตา เช่น ตู้เก็บของบิวท์อิน หรือโต๊ะทำงานที่มีช่องเก็บเอกสาร เพื่อช่วยลดความวุ่นวายในพื้นที่ทำงาน ทำให้พนักงานสามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย
2.ใช้แสงธรรมชาติ
แสงธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้การออกแบบภายในออฟฟิศดูโปร่งโล่งและน่าอยู่มากขึ้น การเปิดรับแสงจากภายนอกช่วยลดความอึดอัดและทำให้รู้สึกสบายตาขณะทำงาน อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันได้อีกด้วย
วิธีออกแบบภายในออฟฟิศให้แสงธรรมชาติเข้ามาในออฟฟิศได้มากขึ้น แนะนำให้ใช้กระจกบานใหญ่แทนผนังทึบ เลือกใช้ฟิล์มกรองแสงหรือวัสดุที่ช่วยกระจายแสงเพื่อลดความร้อนสะสม หรือติดตั้ง Skylight บนเพดานในกรณีที่เป็นออฟฟิศชั้นบน นอกจากนี้ การเลือกใช้ผ้าม่านโปร่งแสงหรือมู่ลี่ที่สามารถปรับระดับแสงได้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่พื้นที่ทำงานได้อย่างเหมาะสม
3. ออกแบบออฟฟิศให้มีพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space)
การออกแบบออฟฟิศให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หรือ Open Space เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยม เพราะช่วยลดความอึดอัดจากการมีผนังกั้นที่มากเกินไป ทำให้พนักงานสามารถสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น เสริมสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นทีมเวิร์ก และช่วยให้พื้นที่ดูโล่งสบาย
นอกจากการลดผนังทึบแล้ว การใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ Low Partition หรือโต๊ะทำงานแบบ Long Table ที่นั่งร่วมกันหลายคน ก็ช่วยให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น และเอื้อต่อการทำงานแบบ Collaboration แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการพื้นที่สำหรับการประชุมหรือการทำงานที่ต้องการสมาธิ อาจเลือกใช้กระจกใสแทนผนังทึบเพื่อลดความอึดอัด แต่ยังคงความเป็นสัดส่วนของพื้นที่ได้อย่างลงตัว
4. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ Multi Function
การออกแบบภายในออฟฟิศที่มีพื้นที่จำกัด หรือแม้แต่ในออฟฟิศขนาดใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ Multi Function เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โต๊ะทำงานที่สามารถพับเก็บได้ หรือปรับระดับความสูงได้ตามการใช้งาน ตู้เก็บของที่เป็นได้ทั้งชั้นวางหนังสือและที่กั้นพื้นที่ รวมถึงเก้าอี้ที่สามารถซ้อนกันได้เพื่อประหยัดพื้นที่เมื่อไม่ใช้งาน
ข้อดีของการใช้เฟอร์นิเจอร์อเนกประสงค์ คือช่วยให้พื้นที่ดูเรียบร้อย ลดการใช้เฟอร์นิเจอร์เกินจำเป็น และปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ยังทำให้ออฟฟิศมีความยืดหยุ่น รองรับการขยายพื้นที่ได้ในอนาคต
5. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในออฟฟิศ
ตกแต่งภายในสำนักงานด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในออฟฟิศ ช่วยเพิ่มความสดชื่นและลดความเครียดในการทำงานได้ เช่น จัดวางต้นไม้กระถางเล็กๆ บนโต๊ะทำงาน ใช้ผนังต้นไม้แนวตั้ง (Green Wall) หรือออกแบบสวนเล็กๆ ภายในสำนักงาน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและทำให้พื้นที่ทำงานดูมีชีวิตชีวา อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และทำให้พนักงานรู้สึกมีพลังในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ พืชบางชนิดยังช่วยฟอกอากาศและลดปริมาณฝุ่นในออฟฟิศได้อีกด้วย เช่น ลิ้นมังกร ยางอินเดีย หรือเดหลี ซึ่งเหมาะกับการปลูกในพื้นที่สำนักงาน เพราะดูแลง่าย มีความสวยความ เหมาะแก่การมองเพื่อพักสายตาหลังจากจ้องจอคอมพิวเตอร์มาทั้งวัน
สรุป
การออกแบบออฟฟิศมินิมอล เป็นแนวทางที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นระเบียบ โปร่งโล่ง และมีประสิทธิภาพ โดยไอเดียการออกแบบดังกล่าวล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานและภาพลักษณ์ขององค์กร อย่างไรก็ตาม การออกแบบออฟฟิศให้ลงตัวทั้งในด้านความสวยงามและฟังก์ชัน จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี และการปรึกษาสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้สามารถออกแบบออฟฟิศที่ตอบโจทย์ความต้องการ เหมาะสมกับงบประมาณ และใช้งานได้จริงในระยะยาว
FAQ
ออฟฟิศมินิมอลเหมาะกับธุรกิจประเภทไหนบ้าง?
-
ออฟฟิศมินิมอลเหมาะกับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ครีเอทีฟเอเจนซี่ และสำนักงานที่ต้องการบรรยากาศที่เงียบสงบ
ใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการปรับออฟฟิศให้เป็นมินิมอล?
- ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และวัสดุที่เลือกใช้ สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่งบหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน การออกแบบภายในออฟฟิศมินิมอลจึงแล้วแต่สไตล์หรือรูปแบบของเจ้าของออฟฟิศด้วย
การออกแบบมินิมอลจะทำให้บรรยากาศออฟฟิศดูจืดชืดหรือไม่?
- การตกแต่งภายในสำนักงานสามารถทำให้ดูไม่น่าเบื่อได้ หากเลือกใช้วัสดุธรรมชาติและตกแต่งด้วยต้นไม้หรือองค์ประกอบเล็กๆ ตามสไตล์ที่ต้องการ
ออฟฟิศมินิมอลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างไร?
- ออกแบบภายในออฟฟิศแบบมินิมอลลดสิ่งรบกวนสมาธิ ทำให้โฟกัสกับงานได้ดีขึ้น และช่วยให้พนักงานรู้สึกสบายใจในสภาพแวดล้อมที่ไม่วุ่นวาย